Wednesday, May 19, 2010

19 พค 53 สงครามกลางเมืองทั่วประเทศไทย

ขอบันทึกไว้เลยว่าวันที่ 19 พค 2553 เป็นวันที่เกิดสงครามกลางเมืองทั้งใน กทม และในจังหวัดใหญ่ๆหลายจังหวัดทางอีสาน และเชียงใหม่ รัฐบาลได้สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์สำเร็จ แต่ก็เกิดผู้ก่อการร้ายกระจายไปทั่ว กทม เผาสารพัดที่ รัฐบาลพยายามควบคุมสถานการณ์โดยการประกาศเคอร์ฟิวเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี ห้ามออกนอกบ้านตั้งแต่ 20.00 - 6.00 ของวันที่ 20 พค คนทั้ง กทม ระดมเติมน้ำมันจนหมดปั๊ม แล้วเร่งซื้อหาอาหารต่างๆกักตุนจนอาหารหมดทั้ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าต่างๆก็ขายดีจนของหมดไปตามๆกัน รถเมล์ รถ BTS MRT บขส หยุดทั้งหมด แถม ศอฉ ก็ปรับรายการทีวีทุกช่องให้เป็นรายการพิเศษจนหมด

สิ่งที่เกิดขึ้นในแง่ของไอทีคือ
1.ที่บริษัทผมพนักงานทุกคนทำงานอยู่กับบ้านตั้งแต่วันจันทร์ที่ 17 พคจนถึง 19 และประกาศให้วันที่ 20 พคให้ทำงานที่บ้านต่อ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติปลอดภัยต่อพนักงานที่จะเดินทางไปที่ทำงาน โดยมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจน้อยมากเพราะพนักงานยังทำงานอยู่ที่บ้านโดยใช้โน๊ตบุ๊คผ่านระบบ VPN over internet connection ได้อย่างสบาย ระบบ VPN นี้ได้รับการออกแบบให้รองรับการเชื่อมต่อของพนักงานกว่า 2 พันคนพร้อมกันในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่เราก็ไม่เคยได้ใช้ความสามารถของ VPN จนถึงขีดจำกัดนั้น

2.ระบบสื่อสารของโทรศัพท์มือถือ AIS แทบจะล่มเพราะมีคนใช้งานจำนวนมากจนโทรออกยากมากๆ โทรทีไรก็ error in connection ตลอด คงใช้ได้เฉพาะ SMS เท่านั้น อันนี้เป็นเพราะเครือข่ายของ AIS รับมือกับการใช้งานจำนวนมากไม่ได้เพราะคนเดินทางไม่ได้ก็เลยโทรหากันแทน พนักงานของบริษัทบางส่วนที่ใช้การเชื่อมต่อโดย air card จะประสบปัญหาความเร็วในการใช้งานช้ามากๆจนแทบใช้ไม่ได้ อันนี้สาเหตุหลักเพราะเครือข่าย GSM มัน shared voice กับ data traffic บน bandwidth เดียวกัน ขนาด voice ยังโทรไม่ออก ดังนั้น data ก็ไม่มีทางสื่อสารได้ จึงต้องแนะนำให้พนักงานที่มี ADSL ที่บ้านเลี่ยงไปใช้ ADSL แทน

3.ธนาคารและตลาดหลักทรัพย์จะปิดทั้งประเทศในวันที่ 20-21 พค แถมยังมีข่าวว่าตู้ ATM ทั้งหมดก็ปิด 2 วันด้วย ให้คนรีบไปกดเงินภายใน 19 พค นี่เรื่องใหญ่เลย เทคโนโลยีอะไรก็ช่วยไม่ได้ ต้องรีบไปกดเงินก่อน

4.ตึก Central World โดนไฟไหม้ พนักงานของบริษัทต่างๆที่ตึก Central world ที่ทำงานนอกสถานที่มาหลายวันแม้จะไม่กระทบอะไรในตอนแรก แต่พอไฟไหม้ปุ๊ปมันจะลามไปถึงห้อง server อันนี้พนักงานทุกคนต้องก็อปปี้ข้อมูลออกมาจาก server ก่อนที่ไฟจะไหม้หมด แต่เข้าใจว่าข้อมูลมีจำนวนมากเป็นสิบๆ ร้อยๆกิกะไบตท์ จะให้ copy ผ่าน internet ในเวลาแค่ 1-2 ชั่วโมงมันเป็นไปไม่ได้ คาดว่าข้อมูลจำนวนมากคงโดนเผาไฟไปแล้ว แต่ถ้าบริษัทเหล่านั้นมีการสำรองข้อมูล และส่งไปเก็บนอกสถานที่ทุกอาทิตย์แล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ไำม่มากนัก เพราะเรียกคืนข้อมูลส่วนใหญ่จากเทปได้ งานนี้ก็ต้องมาดูกันว่าจะมีบริษัทที่ไม่ได้สำรองข้อมูลมากขนาดไหน

5 ระบบ internet ช้ามากๆ เพราะคนอยู่บ้านกันหมด เรียกดูข้อมูลจากเว็บข่าวดังๆจนเว็บแทบล่ม เว็บดังๆอย่าง pantip, กรุงเทพธุรกิจ ผู้จัดการ อืดมากๆ แถมเว็บเหล่านี้ยังมีทั้ง flash ทั้งรูปโฆษณาจำนวนมากอีก ทำให้ยิ่งโหลดช้ามากขึ้นอีก เจ้าของเว็บควรที่จะต้องถอด flash และโฆษณาต่างๆ รวมทั้งรูปภาพที่ไม่จำเป็นออกทั้งหมด เ้พื่อให้ web server สามารถรองรับจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มอย่างมหาศาลได้ อันนี้เว็บนอกอย่าง cnn ก็เคยทำช่วงเหตุการณ์ 9/11 ที่ตึก World Trade โดนถล่ม แต่เว็บไทยไม่เอาบทเรียนเหล่านั้นมาใช้ หลังจากเหตุการณ์ฉุกเฉินในวันนี้ เว็บไซต์ต่างๆของไทยควรทบทวนแผนรับมือ traffic ในสภาวะฉุกเฉินไว้ด้วย

โดยสรุปแล้ว เหตุการณ์ความไม่สงบครั้งนี้ได้สร้างบทเรียนทางธุรกิจจำนวนมากให้คนไอทีไปหาทางแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรธุรกิจจึงจะดำเนินต่อไปได้ภายใต้เหตุฉุกเฉินโดยมีผลกระทบน้อยที่สุด นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ และผมเชื่อว่าเรายังต้องมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองไปอีกอย่างน้อย 6-12 เดือนข้างหน้า ลากไปจนถึงปี 54 นั่นแหละ ผู้จัดการไอทีทั้งหลายไปหาทางรับมือไว้ให้ดีๆ

Thursday, May 6, 2010

โอกาสใหม่ๆที่แผนก IT นำเสนอต่อธุรกิจ


เมื่อปลายปี 52 ระหว่างที่ผมพูดคุยกับฝ่ายผลิตที่โรงงานที่พิษณุโลกเรื่องปัญหาในการทำงานของเขา เพื่อดูว่าทางแผนกไอทีจะหาทางช่วยได้อย่างไร ทางฝ่ายผลิตก็เล่าให้ฟังถึงปัญหาในการทำงานที่ยังคงทำงานด้วยมือเกือบทั้งหมด ทำให้มีปัญหามาก อยากจะให้แผนกไอทีนำแอพลิเคชั่นมาช่วยในการบันทึกข้อมูล แต่ติดขัดว่าไม่ได้มีการเตรียมงบประมาณไว้สำหรับทำเรื่องนี้เลย ทำให้ดูเหมือนว่าต้องรอกันไปอีกเกือบปีเพื่อรอตั้งงบก่อน บังเอิญผมไปอ่านเจอว่าทาง ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จัดให้มีการแข่งขัน Business Reality Challenge โดยให้ทุกบริษัทส่งปัญหาทางธุรกิจของตนที่คิดว่าท้าทายไปให้ทาง ไอบีเอ็มดู ถ้าเขาคิดว่าปัญหาของคุณท้าทายพอ ผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็นดซลูชั่นจากไอบีเอ็มในการแก้ปัญหานี้ ผมก็ลองส่งไปดู หลังจากเข้าไปนำเสนอโปรเจคต่อกรรมการตัดสิน โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งทั้งหมด 22 บริษัท ปรากฏว่าโครงการของผมได้รับการคัดเลือกให้ชนะและทางไอบีเอ็ม ก็ส่ง business partner มาพัฒนาแอพลิเคชั่นให้ อันนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการเสาะแสวงหาโอกาสซึ่งไม่เพียงแต่ภายในองค์กรเท่านั้น ยังมีโอกาสอีกมากภายนอกองค์กร ผู้จัดการแผนกไอทีจะต้องหมั่นมองหาโอกาสที่จะสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจให้กับองค์กร

รายละเอียดตามนี้เลย
"มอนซานโต้" ชนะรางวัล ไอบีเอ็มบิซิเนสเรียลลิตี้ ชาเลนจ์ ฝ่า 22 บริษัท คว้ารางวัลโครงงานไอทีองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

นายกิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจทั่วไป บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทเลือกบริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด เป็นผู้ชนะเลิศรางวัลโครงงานไอที “ไอบีเอ็ม บิซิเนส เรียลลิตี้ ชาเลนจ์” เพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปรับปรุงและพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และประสบความสำเร็จทางธุรกิจ มีเอสเอ็มอี 22 บริษัทส่งโครงงานเข้าประกวด

นายยุทธพงษ์ ชัยธรรม ผู้จัดการแผนกไอที บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า จากการเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด โดยมีศูนย์กระจายวัตถุดิบสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์อยู่ 16 แห่งทั่วประเทศและมีศูนย์กลางอยู่ที่พิษณุโลก เดิมเจ้าหน้าที่ลงปฏิบัติงานในพื้นที่ ไปติดต่อเกษตรกรเพื่อจ่ายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย หรือเคมีภัณฑ์การเกษตรต่างๆ จะเก็บข้อมูลโดยจดใส่กระดาษ แล้วนำข้อมูลกลับมาป้อนลงคอมพิวเตอร์ภายหลัง บางครั้งล่าช้าไปหลายวัน หรืออ่านลายมือไม่ออก, เอกสารหาย, จำนวนวัตถุดิบที่มีในสต็อกเป็นข้อมูลที่ไม่อัพเดท ทำให้บางศูนย์มีวัตถุดิบขาด บางศูนย์เกิน ส่งผลให้การลงบัญชีต่างๆ ผิดพลาด

บริษัทต้องการติดตั้งระบบใหม่ให้เจ้าหน้าที่ได้ใช้คอมพิวเตอร์, อุปกรณ์พกพา, โปรแกรมบริหารจัดการสินค้าคงคลัง เพื่อพัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นการช่วยทั้งเจ้าหน้าที่และเกษตรกร แต่มีงบประมาณไอทีจำกัด จึงเขียนโครงการส่งเข้าประกวด ซึ่งผลออกมาดีเกินคาด เพราะทำให้แก้ปัญหาทางธุรกิจได้ด้วยช่องทางใหม่ๆ และช่วยลดเวลาเจ้าหน้าที่ทำเอกสารได้มาก

การเป็นองค์กรผู้ชนะเลิศ ไอบีเอ็มมอบผลิตภัณฑ์และโซลูชั่น ไอที ได้แก่ ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล ดีบีทู แอพพลิเคชั่นจาวาสำหรับติดตามสินค้าคงคลัง “Smart Track” ที่พัฒนาขึ้นสำหรับมอนซานโต้โดยเฉพาะ โดยบริษัท ไทย อินฟอร์เมติก ซิสเต็มส์ จำกัด (ทีไอเอส) พันธมิตรทางธุรกิจของไอบีเอ็ม รวมมูลค่า 1 ล้านบาท ไอบีเอ็มเริ่มเข้าพัฒนาระบบไอที ของบริษัทตั้งแต่ปลายปี 2552 และทีไอเอสเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งโซลูชัน ประมาณ 4 เดือน

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/it/20100505/113613/%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B9%89-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5-%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%87%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%AA-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B9%89-%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B9%8C.html

วิกฤตการเมืองไทย กับแผนสำรองทางธุรกิจ

เหตุการณ์ผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ปิดถนนบริเวณราชประสงค์เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับธุรกิจต่างๆจำนวนมาก อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ พนักงานไม่สามารถเข้าไปทำงานในที่ทำงานได้ตามปกติ ทำให้บริษัทต่างๆต้องหาทางออกด้วยการไปเช่าพื้นที่ในเขตห่างไกลการชุมนุมเป็นสำนักงานชั่วคราว เรื่องใหญ่อีกเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือต้องมีเน็ตเวิร์คจากที่ทำงานใหม่เพื่อเชื่อมต่อเข้าไปที่เซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ในสำนักงานเดิมที่เข้าไปไม่ได้ เรื่องนี้ทำให้แผนก IT ของหลายๆบริษัทหัวหมุนไปเลยเพราะต้องวิ่งหาเน็ตเวิร์คสำรองกันให้วุ่นในเวลาอันสั้น บางบริษัทถึงกับทำธุรกิจด้วยระบบคอมพิืวเตอร์ไปไม่ได้หลายวัน วิกฤตครั้งนี้คงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความจำเป็นของแผนสำรองเพื่อให้ธุรกิจดำเนินงานไปได้ภายใต้สถาณการณ์ฉุกเิฉินต่างๆ บริษัทใดที่มีแผนนี้อยู่แล้วก็จะสามารถดำเนินงานต่อไปได้ภายใต้เหตุฉุกเฉินโดยมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเพียงเล็กน้อย แต่บริษัทไหนที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าก็ได้รับผลกระทบและความเสียหายอย่างมาก

แผนสำรองสำหรับดำเนินธุรกิจต่อไปภายใต้สถาณการณ์ฉุกเฉินเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าบริษัทของคุณยังไม่มีก็ควรจะเร่งดำเนินการจัดทำขึ้นมา เราไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ชุมนุมอีกเมื่อใดและที่ไหน กันไว้ดีกว่าแก้ครับ